คอมเพรสเซอร์แอร์มีกี่ประเภท

คอมเพรสเซอร์แอร์มีกี่ประเภท

แน่นอนว่าการเลือกซื้อหรือติดตั้งแอร์สักเครื่องมีหลายสิ่งที่จะต้องพิจารณา และสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ ส่วนของคอมเพรสเซอร์ (Compressor) เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราควรจะต้องทำความรู้จักไว้ เพราะถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของแอร์ การทำความเข้าใจในอุปกรณ์ส่วนนี้ก็เพื่อที่จะได้มีหลักในการพิจารณาเลือกแอร์ได้อย่างเหมาะสม แม้กระทั่งคนที่มีแอร์ติดไว้แล้วแต่ชิ้นส่วนอุปกรณ์ดังกล่าวนี้เกิดชำรุดเสียหาย ต้องการหาอะไหล่ส่วนนี้มาเปลี่ยนซ่อมแซม จะได้เลือกซื้อกันได้อย่างถูกต้อง ถูกประเภท เหมาะสมตรงกับรุ่นของแอร์ที่ใช้ ครั้งนี้จึงจะมาอธิบายรายละเอียดของชิ้นส่วนสำคัญของแอร์ชิ้นนี้ให้ทุกคนได้รู้จักให้ดียิ่งขึ้นกัน

หน้าที่ของคอมเพรสเซอร์แอร์

เมื่อได้ทราบประเภทต่าง ๆ ของคอมเพรสเซอร์ไปแล้ว สิ่งที่ต้องรู้ต่อมาก็คือ บทบาทหน้าที่ของอุปกรณ์ส่วนนี้ที่มีต่อระบบการทำงานของแอร์ ซึ่งโดยสรุปแล้วจะทำหน้าที่ในการอัดสารความเย็นเข้าไปตามท่อส่งทองแดงภายใน ซึ่งก็คือการอัดน้ำยาแอร์เข้าไปตามท่อน้ำยาแอร์ จากนั้นก็จะทำการส่งต่อไปยังระบบคอนเดนซิ่งยูนิตให้สารความเย็นทำเกิดการควบแน่นจนกลายเป็นไอก๊าซ ต่อมาก็จะทำการถ่ายเทความร้อนกลับมาที่น้ำยาแอร์และส่งไอเย็นกลับออกไป

กระบวนการจะหมุนวนเป็นวงจรอยู่แบบนี้อยู่ตลอดเวลาที่เราทำการเปิดแอร์ ดังนั้นถ้าคอมเพรสเซอร์ไม่ทำงานแอร์ก็จะไม่เย็น เพราะวงจรของการอัดไอเย็นและถ่ายเทความร้อนไม่เกิดขึ้นนั่นเอง นี่จึงเป็นความสำคัญของอุปกรณ์ส่วนนี้ที่ไม่ควรมองข้ามไป เนื่องจากเป็นหัวใจของระบบความเย็นของแอร์นั่นเอง

ประเภทของคอมเพรสเซอร์แอร์

ก่อนการพิจารณาเลือกคอมเพรสเซอร์ สิ่งแรกที่เราควรจะต้องรู้ก่อนเลยก็คือคอมเพรสเซอร์แอร์มีกี่ประเภท ซึ่งมีการแบ่งเป็น 2 แบบด้วยกัน นั่นคือ

การแบ่งตามลักษณะโครงสร้าง

การแบ่งประเภทคอมเพรสเซอร์ตามลักษณะโครงสร้างก็จะแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ คือ

  1. โครงสร้างแบบเปิด (Open Type) ประเภทนี้จะมีตัวขับหรือตัวมอเตอร์ไฟฟ้าจะแยกออกมาจากตัวเครื่อง และทำงานเป็นอิสระจากกัน การแยกการทำงานที่เป็นอิสระจากกันนั้นจะมีข้อดีตรงที่ว่า หากอุปกรณ์ชำรุดหรือมีปัญหาก็แยกส่วนออกมาซ่อมแซมได้ แต่ข้อเสียก็คือ การทำงานของระบบจะส่งเสียงดังและสิ้นเปลืองเนื้อที่ในการประกอบจัดวาง
  2. โครงสร้างแบบกึ่งปิด (Semi Hermetic) ประเภทนี้ตัวมอเตอร์ไฟฟ้ากับตัวเครื่องจะถูกประกอบรวมอยู่ในโครงสร้างเดียวกันโดยมีสลักเกลียวเป็นจุดยึดอุปกรณ์ทั้งสองให้เชื่อมกันไว้ ข้อดีก็คือเวลาอุปกรณ์ชำรุดก็ถอดซ่อมและเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ง่าย แต่ข้อเสียก็คือโครงสร้างจะต้องทำเป็นเหล็กหล่อจึงทำให้ภาพรวมของอุปกรณ์มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก เคลื่อนย้ายลำบาก
  3. โครงสร้างแบบปิด (Hermetic) ประเภทนี้ตัวมอเตอร์ไฟฟ้ากับตัวเครื่องจะถูกประกอบรวมอยู่ในโครงสร้างเดียวกันและจะมีการเชื่อมปิดสนิท ทำให้มีข้อดีตรงที่ป้องกันการกระแทกและการรั่วซึมได้ ทำงานได้เงียบ แต่ข้อเสียก็คือ เวลามีปัญหาจะถอดประกอบในการซ่อมแซมยาก
ประเภทขออคอมเพรสเซอร์แอร์

การแบ่งตามระบบการอัดความเย็น

การแบ่งประเภทของคอมเพรสเซอร์แอร์อีกแบบที่ได้รับความนิยมทั่วไปก็จะเป็นการแบ่งตามระบบหรือวิธีการอัดความเย็น ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะประเภทที่ได้รับความนิยมในการใช้กับแอร์บ้านเป็นหลัก โดยจะแบ่งออกได้ 3 ระบบ

  1. ระบบลูกสูบ (Reciprocating Type) ประเภทนี้ได้รับความนิยมในการใช้งานแพร่หลาย เนื่องจากระบบการอัดความเย็นจะคล้ายแบบที่ใช้กันในรถยนต์ ประเภทนี้มีการนำมาใช้กับแอร์บ้านบ้างแต่ก็ลดความนิยมลงในระยะหลัง ๆ โดยมากแล้วประเภทนี้จะใช้กับระบบทำความเย็นของตู้แช่เป็นส่วนใหญ่
  2. ระบบโรตารี (Rotary Type) ประเภทนี้ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน กลไกจะใช้ตัวลูกปืนช่วยในการฉีดอัดสารทำความเย็น และพัดความเย็นผ่านระบบใบพัดความเร็วสูง ประเภทนี้จะทำงานได้เงียบ สั่นสะเทือนน้อย และมักจะถูกนำมาใช้ในแอร์ขนาดเล็ก
  3. ระบบก้นหอย (Scroll Type) ประเภทนี้ได้รับการพัฒนามาใหม่ในยุคหลัง เป็นการเอาคุณสมบัติที่เด่น ๆ ของ คอมเพรสเซอร์ทั้งสองระบบข้างต้นมารวมกัน ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น ลดการสั่นสะเทือนลง เครื่องทำงานได้นุ่มนวลและเงียบมากขึ้น นิยมนำมาใช้ในแอร์ขนาดกลาง

ตอนนี้ใครที่กำลังพิจารณาเลือกซื้อแอร์ก็คงจะได้อีกหนึ่งหลักการพิจารณาเพิ่มเติม ที่จะช่วยให้มีความครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น และไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อแอร์ใหม่หรือเลือกซื้ออะไหล่ของแอร์ก็ตาม ความเข้าใจในเรื่องคอมเพรสเซอร์ก็สำคัญเสมอ ดังนั้นรู้ข้อมูลตรงนี้ไว้ย่อมมีประโยชน์สำหรับคุณทุกคนอย่างแน่นอน